คืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า รัฐบาลมีความยินดีที่แจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ในการใส่เงินระบบเศรษฐกิจกระจายไปทุกพื้นที่ให้ถึงฐานราก ท้องถิ่น-ชุมชน โดยดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้ 

เดินหน้าโครงการฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายไปทุกพื้นที่ให้ถึงฐานราก

   นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

มอบสิทธิให้ประประชาชน 50 ล้านคน คาดเศรษฐกิจขยายตัว ร้อยละ 1.2 - 1.6

   ในส่วนของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่าน Digital Wallet  วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 

แหล่งที่มาของเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

  นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินในโครงการฯ ว่า ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่

  1.  เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
  2.  การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568
  3.  การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท

กลุ่มเป้าหมายและเงื่อนในการดำเนินโครงการ

เงื่อนไข คุณสมบัติ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท 

  1.  คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป
  2.  มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี (70,000 บาท/เดือน)
  3.  เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่าย 

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 

  • กลุ่มที่ 1 คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น (มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในรอบแรกรัฐบาลต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจไปถึงฐานราก) 
  • กลุ่มที่ 2 คือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในเชิงพื้นที่และขนาดของร้านค้าที่มีการแลกเปลี่ยน 
  • โดยสินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ ออนไลน์ และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้น 

   สำหรับการใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop 

คุณสมบัติของร้านค้าที่จะถอนเงินจากโครงการฯ

  ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ใน 3 ประเภท คือ 

  1.  ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  2.  ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT)
  3.  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

ะยะเวลาในการดำเนินโครงการ

   ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดย กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการและกรรมการ จะนำมติที่ได้รับความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar